วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551

บริษัทจำกัด (คำถามที่พบบ่อย)

  1. ลักษณะของบริษัทจำกัด
    1. แบ่งทุนออกเป็นหุ้นๆ ละเท่าๆ กัน 2. ผู้ถือหุ้นรับผิดจำกัดเพียงเงินค่าหุ้นที่ยังส่งไม่ครบ 3. มูลค่าของหุ้นๆ หนึ่งนั้น ต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท 4. หุ้นนั้นแบ่งแยกไม่ได้
  2. ที่อยู่ของผู้เริ่มก่อการต่างชาติจะต้องระบุที่ใด
    1. กรณีที่มีถิ่นอยู่อย่างถาวรในประเทศไทย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านให้ระบุ ที่อยู่ในประเทศไทย ตามทะเบียนบ้าน 2. กรณีที่มีถิ่นอยู่ในต่างประเทศ ให้ระบุที่อยู่ซึ่งสามารถติดต่อได้ในต่างประเทศ
  3. ผู้เริ่มก่อการ 1 ใน 7 ต้องเป็นกรรมการตอนตั้งบริษัทด้วยหรือไม่
    ไม่ต้องเป็น เว้นแต่ที่ประชุมตั้งบริษัทเลือกตั้งผู้เริ่มก่อการคนนั้นขึ้นเป็นกรรมการของบริษัท
  4. ผู้เริ่มก่อการต้องเป็นผู้ถือหุ้นตอนตั้งบริษัทด้วยหรือไม่
    ผู้เริ่มก่อการทุกคนต้องเป็นผู้ถือหุ้นตอนตั้งบริษัทด้วย โดยถือหุ้นอย่างน้อยคนละหนึ่งหุ้น
  5. ผู้เริ่มก่อการตายไป 1 คน จะต้องทำอย่างไร
    1. กรณีที่ผู้เริ่มก่อการมีทั้งหมด 7 คน หากผู้เริ่มก่อการคนใดคนหนึ่งตายไป ทำให้จำนวนผู้เริ่มก่อการ เหลือไม่ถึง 7 คนไม่อาจดำเนินการจัดตั้งบริษัทได้ 2. กรณีที่ผู้เริ่มก่อการมีมากกว่า 7 คน หากผู้เริ่มก่อการคนใดคนหนึ่งตายไป มีผู้เริ่มก่อการเดิมเหลืออยู่ ไม่น้อยกว่า 7 คน และมีความประสงค์จะดำเนินการจัดตั้งบริษัท ให้ยื่นขอคำจดทะเบียนแก้ไข เพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิก่อนการจัดตั้งบริษัท ข้อ.6 (แก้ไขผู้เริ่มก่อการ) พร้อมทั้งแนบสำเนา ใบมรณะบัตรของผู้เริ่มก่อการที่ตายประกอบเรื่องด้วย
  6. นิติบุคคลเป็นผู้เริ่มก่อการได้หรือไม่
    “ไม่ได้”
  7. ผู้เยาว์เป็นผู้เริ่มก่อการได้หรือไม่
    ผู้เยาว์เป็นผู้เริ่มก่อการได้ ต้องปรากฏว่า 1. มีอายุไม่น้อยกว่า 12 ปี 2. ได้ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบด้วยตนเอง
  8. ผู้ถือหุ้นของบริษัทเหลือไม่ถึง 7 คน จะได้ไหม
    ได้ แต่อาจเป็นเหตุให้ศาลสั่งให้เลิกบริษัท
  9. หลักเกณฑ์การควบบริษัท
    1. บริษัทจะควบเข้ากันได้ โดยแต่ละบริษัทเรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้มีมติพิเศษให้ควบบริษัท 2. ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน บริษัทจะต้องใช้หนี้หรือได้ให้ประกัน เพื่อหนี้รายนั้นก่อนจึงจะควบ เข้ากันได้ 3. จำนวนทุนและหุ้นของบริษัทใหม่นั้น ต้องเท่ากับยอดรวมจำนวนทุนและหุ้นของบริษัทเดิม ที่มาจะควบเข้ากัน 4. สิทธิและความรับผิดของแต่ละบริษัทเดิมที่ได้มาควบบริษัทกัน ย่อมเป็นสิทธิและความรับผิด ของบริษัทใหม่
  10. จดทะเบียนว่าชำระค่าเต็มมูลค่าแล้ว จะขอเปลี่ยนเป็นชำระ 25% ได้หรือไม่
    เอกสารในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทเป็นเอกสารมหาชน เมื่อนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนแล้วจึงไม่สามารถจะขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดนั้นได้ ดังนั้นในการจดทะเบียนแต่ละครั้ง ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องตรวจสอบรายละเอียดให้ถูกต้องและตรงตามความจริงทุกครั้งก่อนยื่นจดทะเบียน และขอเตือนว่าอย่าได้ลงชื่อในคำขอจดทะเบียนโดยยังไม่มีการกรอกรายละเอียดเด็ดขาด
  11. อยากทราบทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสุด
    บริษัทจำกัด ตามกฎหมาย (ป.พ.พ.) กำหนดมูลค่าหุ้นไม่น้อยกว่าหุ้นละ 5 บาท ฉะนั้น ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสุดของบริษัท คือ 35 บาท ก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้แล้ว ห้างหุ้นส่วน กฎหมายไม่ได้กำหนดทุนขั้นต่ำไว้
  12. หลักเกณฑ์การเพิ่มทุนของบริษัท
    1. การเพิ่มทุนบริษัทจำกัดต้องได้รับมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ให้เพิ่มทุน 2. บริษัทจำกัดเพิ่มทุนได้ด้วยการออกหุ้นใหม่ 3. หุ้นของบริษัทจำกัดที่ออกใหม่ ถ้าจะชำระด้วยสิ่งอื่นนอกจากตัวเงิน ต้องมีมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น 4. หุ้นของบริษัทจำกัดที่ออกใหม่นั้น จะขายให้แก่บุคคลภายนอกไม่ได้
  13. หลักเกณฑ์การลดทุนของบริษัท
    1. การลดทุนบริษัทจำกัด ต้องได้รับมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นให้ลดทุนได้ 2. บริษัทจะลดทุนโดยการลดมูลค่าแต่ละหุ้น ๆ ให้ต่ำลง หรือลดจำนวนหุ้นให้น้อยลงก็ได้ 3. ทุนของบริษัทจะลดลงให้ต่ำกว่าหนึ่งในสี่ของทุนเดิมไม่ได้ 4. ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้านการลดทุน บริษัทจะต้องใช้หนี้หรือให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้นก่อน จึงจะ ลดทุนได้
  14. หลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมชื่อของบริษัท
    1. การแก้ไขเพิ่มเติมชื่อของบริษัท ต้องได้รับมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นให้แก้ไขชื่อได้ 2. หากบริษัทได้จดทะเบียนดวงตราไว้และตรานั้นมีชื่อบริษัทอยู่ ต้องจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม ตราของบริษัทด้วย
  15. วัตถุที่ประสงค์จะพิมพ์ขึ้นมาเอง โดยไม่ใช้วัตถุที่ประสงค์สำเร็จรูปของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้หรือไม่
    “ได้” โดยให้พิมพ์ลงในแบบ ว. (สีขาว) ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ที่นายทะเบียนจัดพิมพ์ขึ้น
  16. ใครจะเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมบริษัท
    คำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมบริษัททุกประเภท ต้องลงชื่อโดยกรรมการตามอำนาจที่ได้จดทะเบียนไว้เดิม
  17. กรรมการลาออกและจะแต่งตั้งกรรมการใหม่แทน จะต้องประชุมกรรมการหรือผู้ถือหุ้น
    1. ถ้ากรรมการลาออกก่อนครบกำหนดวาระการเป็นกรรมการและบริษัทต้องการจะแต่งตั้งกรรมการ ใหม่แทน จะประชุมกรรมการหรือผู้ถือหุ้นก็ได้ 2. ถ้ากรรมการลาออกเมื่อครบกำหนดวาระการเป็นกรรมการและบริษัทต้องการแต่งตั้งกรรมการ ใหม่แทน ต้องประชุมผู้ถือหุ้น
  18. กรรมการตายต้องทำอย่างไร
    ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนกรรมการออกจากตำแหน่ง หากกรรมการที่ตายเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ให้จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจกรรมการด้วย
  19. กรรมการบริษัทจะต้องมีกี่คน
    1. กรณีที่บริษัทได้กำหนดจำนวนของกรรมการไว้ในข้อบังคับของบริษัท การแต่งตั้งกรรมการก็ต้อง เป็นไปตามจำนวนตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ 2. กรณีที่บริษัทไม่ได้กำหนดจำนวนกรรมการไว้ในข้อบังคับของบริษัท การแต่งตั้งกรรมการเป็นไปตามมติ ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ที่จะกำหนดว่ากรรมการของบริษัทจะมีกี่คน
  20. การเปลี่ยนอำนาจกรรมการจะต้องประชุมผู้ถือหุ้นหรือกรรมการ
    การเปลี่ยนอำนาจกรรมการจะต้องประชุมผู้ถือหุ้น เว้นแต่ข้อบังคับของบริษัท จะกำหนดให้คณะกรรมการ เป็นผู้กำหนด อำนาจกรรมการได้
  21. ทางราชการมีการแก้ไขเลขที่ ถนน แขวง เขตของสำนักงาน จะต้องทำอย่างไร
    1. ให้กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำหนังสือถึงนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ขอแก้ไขเลขที่ ถนน แขวง เขตให้ถูกต้อง 2. แนบหลักฐานที่ราชการแก้ไขประกอบหนังสือด้วย
  22. บริษัทจำเป็นต้องจดทะเบียนตราของบริษัทด้วยหรือไม่
    บริษัทขอจดทะเบียนตราของบริษัทหรือไม่ก็ได้ เว้นแต่อำนาจกรรมการ ระบุว่าต้องประทับตราสำคัญบริษัท ต้องขอจดทะเบียนดวงตราสำคัญด้วย
  23. คำแสดงนิติฐานะของบริษัทในดวงตรา จะใช้คำย่อได้หรือไม่
    ไม่ได้ การใช้ชื่อและบริษัทจำกัดเป็นตราหรือส่วนหนึ่งของตรา จะต้องระบุคำแสดงนิติฐานะ โดยใช้ “บริษัท” ไว้หน้าชื่อ และ “จำกัด” ไว้ท้ายชื่อ (ยกเว้นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “บริษัท” ไว้หน้าชื่อ
  24. หลักเกณฑ์การจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมตราของบริษัท
    การแก้ไขเพิ่มเติมตราของบริษัท จะต้องได้รับมติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น หรือที่ประชุมคณะกรรมการ
  25. เหตุที่จะเลิกบริษัท
    1.เลิกตามที่ข้อบังคับกำหนดกรณีที่จะเลิกไว้ 2.เลิกตามกำหนดเวลาที่จดทะเบียนไว้ 3.ถ้าบริษัทตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งแต่อย่างเดียว บริษัทย่อมเลิกกันเมื่อเสร็จการนั้น 4.เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก 5.เมื่อบริษัทล้มละลาย 6.เมื่อศาลสั่งให้เลิก
  26. การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
    การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนผู้ขอจดทะเบียนต้องลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน พร้อมแสดงบัตรประจำตัว ในกรณีที่ไม่อาจลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนได้ไม่ว่าด้วยระการใดๆ ให้ถือว่าลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนเป็นที่ถูกต้อง เมื่อผู้ขอจดทะเบียนลงลายมือชื่อด้วยตนเองต่อหน้าบุคคลดังต่อไปนี้ 1. กรณีลงลายมือชื่อในราชอาณาจักร ก. พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งประจำอยู่ในท้องที่ที่ผู้ขอจดทะเบียนมีภูมิลำเนาอยู่ ข. สามัญสมาชิกหรือสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา หรือ ค. บุคคลอื่นตามที่นายทะเบียนกลางประกาศกำหนด 2. กรณีลงลายมือชื่อในต่างประเทศ ก. เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยหรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงาน ณ ประเทศนั้น หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนบุคคลดังกล่าว ข.บุคคลซึ่งสามารถให้การรับรองที่สมบูรณ์ตามแบบของกฎหมายแห่งประเทศนั้น หรือ ค.บุคคลที่ควรเชื่อถือได้สองคนมาลงลายมือชื่อรับรองต่อหน้านายทะเบียนว่าเป็นลายมือชื่อผู้นั้นจริง

ที่มา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dbd.go.th/

ไม่มีความคิดเห็น: