วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551

"คณะบุคคล" กับการประกอบธุรกิจ

บุคคลธรรมดาหากมีเงินได้พึงประเมินจะต้องนำเงินได้ตลอดทั้งปีไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากบุคคลธรรมดามีเงินได้พึงประเมินจะต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 10 - 37% ตามอัตราก้าวหน้า (Progressive Rate)

สุดาเป็นพนักงานกินเงินเดือนประจำมีรายได้ปี 400,000 บาท และยังเปิดร้านขายสินค้าสะดวกซื้อที่บ้านมีรายได้อีกปีละ 1,000,000 บาท สุดาต้องนำรายได้เงินเดือนและร้านขายสินค้าสะดวกซื้อมารวมกันทำให้เงินได้ของสุดาเป็นเงิน 1,400,000 บาท สุดาจะต้องเสียภาษีเงินได้สูงขึ้น (ตามภาษีอัตราก้าวหน้า)
แต่หากสุดาเลือกองค์กรที่ใช้ประกอบธุรกิจในรูปของ "คณะบุคคล" จะช่วยแก้ไขปัญหาในการเสียภาษีเงินได้
"คณะบุคคล" หมายถึง ธุรกิจที่ดำเนินงานด้วยบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยได้ตกลงทำกิจกรรมร่วมกันมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไรตามอัตราส่วนที่ตกลงกันหรือแต่ละคนที่ได้ลงทุนในกิจการ คณะบุคคลจึงมีลักษณะเหมือนกับห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในหนี้สินทั้งหมดของกิจการโดยไม่จำกัดจำนวนหนี้สินนั้น การเสียภาษีเงินได้ของคณะบุคคลจะเสียภาษีเงินได้เหมือนกับบุคคลธรรมดาที่แยกออกจากตัวบุคคล โดยถือเป็นบุคคลอีกคนหนึ่ง
ทั้งนี้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีอีก แต่ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นมีภาษีค้างชำระให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลทุกคนร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย"
นอกจาก "คณะบุคคล" จะมีหน้าที่เสียภาษีเสมือนหนึ่งเป็นบุคคลที่แยกออกจากบุคคลธรรมดาทั่วไปแล้ว เมื่อประกอบธุรกิจมีผลกำไรในแต่ละปี แล้วนำกำไรของคณะบุคคลมาแบ่งให้กับผู้ร่วมลงทุน ส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวก็ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (14) เงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ คือ "(14) เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม"
ในการคำนวณเงินได้พึงประเมินของคณะบุคคลไม่ได้แตกต่างจากบุคคลธรรมดาซึ่งก็คือ นำเงินได้ทั้งปีตั้งหักด้วยค่าใช้จ่ายเหมา และหักด้วยค่าลดหย่อน กรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หักลดหย่อนได้ตามสำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยแต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท ดังนั้นหากสุดาวางแผนภาษี สุดาอาจจะเลือกกินเงินเดือนในนามบุคคล และเป็นร้านขายของสะดวกซื้อในนามคณะบุคคล เมื่อถึงกำหนดยื่นเสียภาษีก็จะแยกเสียภาษีออกจากกันถือเป็นคนละหน่วยภาษี
* * * * บทความโดย สมเดช โรจน์คุรีเสถียร * *
โดย ผู้จัดการออนไลน์
19 กรกฎาคม 2548 16:48 น.

ไม่มีความคิดเห็น: