วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2551

108 ประเด็นความผิด ภาษีนิติบุคคล (2)

บรรยากาศการยื่นแบบ ภ.ง.ด. รอบปีนี้ ดูเงียบเหงา ทั้งผู้ยื่น (บริษัท /หจก.) และผู้รับยื่น (กรมสรรพากร) ซึ่งคงเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยลบต่างๆ ทั้งกรณีน้ำมันแพง ข้าวสารหาย (กักตุน) ธัญญาหารลด (ภัยธรรมชาติ) และประเด็นทางการเมือง
ส่วนตลาดหลักทรัพย์เอง ซึ่งปิดงบไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยมีผลประกอบการโดยรวมยังดีอยู่ จึงพอใจชื้นได้ว่าปีนี้สรรพากร ยังคงเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย เพราะปลาตัวใหญ่ยังออกไข่ได้ดีจะมีก็แต่ SMEs ส่วนใหญ่ ที่สู้กระแสคลื่นโลกาภิวัตน์ไม่ได้ จึงอาจออกไข่ได้มาใบเล็กๆ ฯลฯ
ข้อเขียนวันนี้ จะเสนอประเด็นความผิดภาษีนิติบุคคล ต่อจากตอน 1 (สัปดาห์ก่อน) ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถค้นดูข้อมูลได้ที่ www.taxbiz.co.th เช่นเดิมครับ

4. รายจ่ายไม่มีบิล

4.1 แนวคิด/หลักการ
รายจ่ายทุกกรณีที่เกิดขึ้นย่อมสามารถนำหักเป็นรายจ่าย เพื่อการรัษฎากรได้ เว้นแต่จะเข้าต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (1) - (20) กล่าวสำหรับรายจ่ายที่ไม่มีบิล หากพิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายจริง เกี่ยวข้องกับกิจการ ก็ย่อมสามารถนำมาหักเป็นรายจ่าย เพื่อการรัษฎากรได้ทั้งสิ้น ไม่ว่ารายจ่ายดังกล่าวจะผิดหลักเกณฑ์ของกฎหมายอื่นหรือไม่ก็ตาม เช่น เงินใต้โต๊ะ เป็นต้น

4.2 ปัญหา
มีธุรกิจหลายประเภทที่มักซื้อขายกันโดยไม่ออกใบแจ้งหนี้/ใบเสร็จรับเงิน เช่น กิจการร้านขายอาหาร/ภัตตาคาร กิจการค้าวัสดุก่อสร้าง กิจการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ กิจการค้าอะไหล่ยนต์ เป็นต้น
กรณีนี้จึงทำให้ ทั้ง 3 ฝ่ายมีประเด็นปัญหาตามมา กล่าวคือ
ผู้ขาย ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือร้านค้าย่อย ฯลฯ ที่เคยชินกับการเสียภาษีแบบเหมาจ่าย (ซึ่งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของประมวลรัษฎากร) ซึ่งโดยมากเป็นพ่อค้าในต่างจังหวัด ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงไม่นิยมทำบัญชี/ไม่ออกบิล
ผู้ซื้อ มี 2 กลุ่ม คือ ร้านค้าย่อยกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งในกรณีของผู้ซื้อที่เป็นร้านค้าย่อยกับร้านค้าย่อย ได้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเป็นปกติธุระที่จะไม่ออกบิลซื้อขายระหว่างกันอยู่แล้วเพราะส่วนใหญ่ มักเสียภาษีแบบเหมาจ่าย (ตามแต่จะตกลงกับเจ้าพนักงานในแต่ละท้องที่) แต่สำหรับกรณีของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งทำบัญชีชุดเดียว จะเกิดปัญหาจากการไม่มีใบสำคัญคู่จ่ายมาลงบัญชี กฎหมายภาษีถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามฯ (รายจ่ายที่พิสูจน์ผู้รับไม่ได้) ตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร
กรมสรรพากร ได้แก้ปัญหาโดยใช้มาตรการปราบปราม เช่น การออกตรวจปฏิบัติการ/การออกหนังสือเชิญพบการออกหมายเรียก และออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อป้องกัน อุดช่องโหว่ของการหลีกเลี่ยงภาษี ฯลฯ กรณีนี้จึงก่อ Compliance Costs (ต้นทุนปฏิบัติตามกฎหมายภาษี) ที่สูงต่อผู้ประกอบการทุกระดับ

4.3 วิธีแก้ไข
กรมสรรพากรได้วางระเบียบปฏิบัติ กรณีกิจการต่างๆ ไม่มีเอกสาร/ใบสำคัญคู่จ่ายที่ไม่สมบูรณ์ โดยสามารถปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 วิธี ต่อไปนี้คือ
(1) ให้ผู้ซื้อจัดทำใบสำคัญจ่าย (Payment Voucher) ให้ผู้ขายลงนามพร้อมระบุชื่อที่อยู่/รายการสินค้า (บริการ) ที่ซื้อขาย และถ่ายสำเนาบัตรประชาชนของผู้ขายไว้เป็นสำคัญ
(2) ให้ผู้ซื้อชำระราคาด้วยการ สั่งจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อม (A/C PAYEE ONLY) ระบุชื่อผู้รับเงิน (ผู้ขาย) ไว้เป็นหลักฐานประกอบการลงบัญชี
(3) ให้ผู้ซื้อจ่ายเงินผ่านระบบตัดบัญชีเงินฝากธนาคาร (Bank Statement) ของผู้ขาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการลงบัญชีได้ เช่นกัน
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติโดยส่วนใหญ่แล้วไม่มีผู้ขายรายใดยินยอมให้ปฏิบัติตาม 3 วิธี ดังกล่าวแต่อย่างใดในความเห็นของผู้เขียน กรมสรรพากรอาจแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยหลักเกณฑ์พิเศษ เช่น ยอมให้บริษัท SMEs (ผู้ซื้อ) สามารถเลือกหักรายจ่ายเป็นการเหมา เป็นต้น ส่วนในแง่การวางแผนภาษี (ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายปัจจุบัน) ผู้เขียนมักแนะนำให้ ผู้ประกอบการจัดตั้งหน่วยภาษี (Tax entity) ในรูปบุคคลธรรมดา ซึ่ง พ.ร.ฎ.#11 แห่งประมวลรัษฎากรเป็นทางเลือกให้สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายวิธีเหมา หรือ หักตามจริงก็ได้ (แต่ต้องแสดงบิล)

5. ค่าส่งเสริมการขาย
5.1 แนวคิด/หลักการ
ตามประมวลรัษฎากรฉบับปัจจุบัน กรณีการส่งเสริมการขาย (ลด แลก แจก แถม) จะมีภาระภาษีหลัก ๆ มาเกี่ยวข้อง 3 กรณี ดังนี้
ประเภทภาษี หลักเกณฑ์ กฎหมายอ้างอิง
ภาษีเงินได้นิติบุคคล อำนาจในการประเมินรายรับกรณีมีการจำหน่ายจ่ายโอนสินค้าฯ โดยไม่มีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด ม. 65 ทวิ (4)
VAT - อำนาจในการประเมินรายรับเพิ่มกรณีผู้ประกอบการยื่นแบบแสดงมูลค่าฐานภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง ม. 88/2 (3) , (4)
- การให้ส่วนลดที่จะลดฐานภาษีต้องเป็นกรณีส่วนลดการค้า (Trade Discount) ม. 79 (1)
- การยกเว้นภาษีขายต้องเป็นการแถมพร้อมขายและมูลค่าของแถมไม่เกินมูลค่าสินค้าที่ขาย และการแจกของขวัญของชำร่วยสินค้าตัวอย่าง ประกาศ Vat#40 และ #55
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย - การประกวดแข่งขันชิงโชคต้องหัก ณ ที่จ่าย 5% ทป.4/2528 (ข้อ 9 (1))
- การจ่ายเงินรางวัลเพื่อการส่งเสริมการขาย ต้องหัก ณ ที่จ่าย 3% ทป.4/2528 (ข้อ 12/2)

5.2 ปัญหา
กฎหมายภาษีวางหลักเกณฑ์ และเงื่อนทางภาษีในหลายกรณีแตกต่างจากประเพณีธุรกิจ และยังมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ในแต่ละประเภทภาษี กรณีนี้จึงทำให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติผิดพลาดและต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มอยู่บ่อยๆ ทั้งๆ ที่ภาระภาษีจากการส่งเสริมการขาย มิได้มีเม็ดเงินอย่างเป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด

5.3 วิธีแก้ไข
(1) บริษัทต้องมีแคมเปญส่งเสริมการขาย (Promotion Campaign) เป็น Supporting Documents อย่างชัดเจน เพื่อพิสูจน์ คำว่า “เหตุผลอันสมควร” ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4)
(2) การให้ส่วนลด จะต้องเป็น Trade Discount และหากเป็นการออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ผู้ขายจะต้องแสดงทั้งราคาขาย ส่วนลดและราคาขายสุทธิ จึงจะเข้าเงื่อนไข ที่สามารถนำส่วนลดดังกล่าวมาลดยอดฐานภาษีลงมาได้ (ม.79(1))
(3) การแถมสินค้า จะต้องมีแคมเปญรองรับ และต้องเป็นการแถมพร้อมขาย โดยมูลค่าของแถมต้องไม่เกินมูลค่าสินค้าที่ขาย (Vat#40)
(4) การแจกสินค้าตัวอย่าง จะต้องเป็นกรณีของ Sample ที่ให้ทดลองใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เลือกปฏิบัติ กรณีนี้จึงไม่ต้องเสียภาษีขาย (Vat#55)
(5) ของขวัญ ของชำร่วย กระเช้าปีใหม่ ฯลฯ นั้น เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 2761/2524 วินิจฉัยให้เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) (รายจ่ายส่วนตัว) แต่กรมสรรพากรได้ออกคำวินิจฉัย อนุโลมให้ถือเป็นค่าโฆษณาได้
ส่วนในแง่ Vat#55 ได้วางหลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นการแจกเนื่องในเทศกาล โดยมีชื่อบริษัทติดอยู่ เป็นสิ่งของที่พึงให้กันตามประเพณี และมีมูลค่าไม่เกินสมควร จึงจะไม่เสียภาษีขาย (Vat#55)ม

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551

ศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจ (ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

การขอรับบริการ

• ท่านสามารถมาติดต่อขอรับคำปรึกษาด้วยตนเอง ณ ชั้น 3 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

• สอบถามทางโทรศัพท์ หรือนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ เบอร์ 02-5475050 หรือโทร. 1570

• ตั้งกระทู้ถามผ่านทาง Website ของกรมฯ www.dbd.go.th

การให้บริการ

1) ด้านการจดทะเบียนธุรกิจ

ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ การจดทะเบียนนิติบุคคล เช่น การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด , บริษัทจำกัด เบอร์ติดต่อ 02-5475995 , 02-5475996 ,02-5475050 ต่อ 3548 , 3067

2) ด้านบัญชีธุรกิจ

ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ การจัดทำบัญชีและงบการเงิน ผู้ทำบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชีมาตรฐานการบัญชี การแจกโปรแกรมบริหารจัดการร้านค้าปลีก(POS) และโปรแกรมระบบบัญชีสำหรับบุคลธรรมดา ประเภทซื้อมาขายไป เบอร์ติดต่อ 02-5474406 , 02-5474942, 02-5475050 ต่อ 3064

3) ด้านส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ

ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ แนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบการและสถาบันการค้า ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจเสริมสวย ธุรกิจบริการ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาความรู้ในการประกอบธุรกิจ เบอร์ติดต่อ 02-5475980 หรือ 02-5475050 ต่อ 3009

4) ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ , การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เบอร์ติดต่อ 02-5475998 หรือ 02-5475050 ต่อ3081์

5) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ

คือ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งกรมฯ เชิญมาให้คำปรึกษาด้านเทคนิคการประกอบธุรกิจในด้านส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ เช่น ร้านอาหาร เป็นต้น

ศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจชั้น 3 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์44/10 ถนนนนทบุรี 1ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองจังหวัดนนทบุรี 11000โทร. 0-2547-5050สายด่วน 1570

บริษัทจำกัด (คำถามที่พบบ่อย)

  1. ลักษณะของบริษัทจำกัด
    1. แบ่งทุนออกเป็นหุ้นๆ ละเท่าๆ กัน 2. ผู้ถือหุ้นรับผิดจำกัดเพียงเงินค่าหุ้นที่ยังส่งไม่ครบ 3. มูลค่าของหุ้นๆ หนึ่งนั้น ต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท 4. หุ้นนั้นแบ่งแยกไม่ได้
  2. ที่อยู่ของผู้เริ่มก่อการต่างชาติจะต้องระบุที่ใด
    1. กรณีที่มีถิ่นอยู่อย่างถาวรในประเทศไทย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านให้ระบุ ที่อยู่ในประเทศไทย ตามทะเบียนบ้าน 2. กรณีที่มีถิ่นอยู่ในต่างประเทศ ให้ระบุที่อยู่ซึ่งสามารถติดต่อได้ในต่างประเทศ
  3. ผู้เริ่มก่อการ 1 ใน 7 ต้องเป็นกรรมการตอนตั้งบริษัทด้วยหรือไม่
    ไม่ต้องเป็น เว้นแต่ที่ประชุมตั้งบริษัทเลือกตั้งผู้เริ่มก่อการคนนั้นขึ้นเป็นกรรมการของบริษัท
  4. ผู้เริ่มก่อการต้องเป็นผู้ถือหุ้นตอนตั้งบริษัทด้วยหรือไม่
    ผู้เริ่มก่อการทุกคนต้องเป็นผู้ถือหุ้นตอนตั้งบริษัทด้วย โดยถือหุ้นอย่างน้อยคนละหนึ่งหุ้น
  5. ผู้เริ่มก่อการตายไป 1 คน จะต้องทำอย่างไร
    1. กรณีที่ผู้เริ่มก่อการมีทั้งหมด 7 คน หากผู้เริ่มก่อการคนใดคนหนึ่งตายไป ทำให้จำนวนผู้เริ่มก่อการ เหลือไม่ถึง 7 คนไม่อาจดำเนินการจัดตั้งบริษัทได้ 2. กรณีที่ผู้เริ่มก่อการมีมากกว่า 7 คน หากผู้เริ่มก่อการคนใดคนหนึ่งตายไป มีผู้เริ่มก่อการเดิมเหลืออยู่ ไม่น้อยกว่า 7 คน และมีความประสงค์จะดำเนินการจัดตั้งบริษัท ให้ยื่นขอคำจดทะเบียนแก้ไข เพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิก่อนการจัดตั้งบริษัท ข้อ.6 (แก้ไขผู้เริ่มก่อการ) พร้อมทั้งแนบสำเนา ใบมรณะบัตรของผู้เริ่มก่อการที่ตายประกอบเรื่องด้วย
  6. นิติบุคคลเป็นผู้เริ่มก่อการได้หรือไม่
    “ไม่ได้”
  7. ผู้เยาว์เป็นผู้เริ่มก่อการได้หรือไม่
    ผู้เยาว์เป็นผู้เริ่มก่อการได้ ต้องปรากฏว่า 1. มีอายุไม่น้อยกว่า 12 ปี 2. ได้ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบด้วยตนเอง
  8. ผู้ถือหุ้นของบริษัทเหลือไม่ถึง 7 คน จะได้ไหม
    ได้ แต่อาจเป็นเหตุให้ศาลสั่งให้เลิกบริษัท
  9. หลักเกณฑ์การควบบริษัท
    1. บริษัทจะควบเข้ากันได้ โดยแต่ละบริษัทเรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้มีมติพิเศษให้ควบบริษัท 2. ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน บริษัทจะต้องใช้หนี้หรือได้ให้ประกัน เพื่อหนี้รายนั้นก่อนจึงจะควบ เข้ากันได้ 3. จำนวนทุนและหุ้นของบริษัทใหม่นั้น ต้องเท่ากับยอดรวมจำนวนทุนและหุ้นของบริษัทเดิม ที่มาจะควบเข้ากัน 4. สิทธิและความรับผิดของแต่ละบริษัทเดิมที่ได้มาควบบริษัทกัน ย่อมเป็นสิทธิและความรับผิด ของบริษัทใหม่
  10. จดทะเบียนว่าชำระค่าเต็มมูลค่าแล้ว จะขอเปลี่ยนเป็นชำระ 25% ได้หรือไม่
    เอกสารในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทเป็นเอกสารมหาชน เมื่อนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนแล้วจึงไม่สามารถจะขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดนั้นได้ ดังนั้นในการจดทะเบียนแต่ละครั้ง ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องตรวจสอบรายละเอียดให้ถูกต้องและตรงตามความจริงทุกครั้งก่อนยื่นจดทะเบียน และขอเตือนว่าอย่าได้ลงชื่อในคำขอจดทะเบียนโดยยังไม่มีการกรอกรายละเอียดเด็ดขาด
  11. อยากทราบทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสุด
    บริษัทจำกัด ตามกฎหมาย (ป.พ.พ.) กำหนดมูลค่าหุ้นไม่น้อยกว่าหุ้นละ 5 บาท ฉะนั้น ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสุดของบริษัท คือ 35 บาท ก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้แล้ว ห้างหุ้นส่วน กฎหมายไม่ได้กำหนดทุนขั้นต่ำไว้
  12. หลักเกณฑ์การเพิ่มทุนของบริษัท
    1. การเพิ่มทุนบริษัทจำกัดต้องได้รับมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ให้เพิ่มทุน 2. บริษัทจำกัดเพิ่มทุนได้ด้วยการออกหุ้นใหม่ 3. หุ้นของบริษัทจำกัดที่ออกใหม่ ถ้าจะชำระด้วยสิ่งอื่นนอกจากตัวเงิน ต้องมีมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น 4. หุ้นของบริษัทจำกัดที่ออกใหม่นั้น จะขายให้แก่บุคคลภายนอกไม่ได้
  13. หลักเกณฑ์การลดทุนของบริษัท
    1. การลดทุนบริษัทจำกัด ต้องได้รับมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นให้ลดทุนได้ 2. บริษัทจะลดทุนโดยการลดมูลค่าแต่ละหุ้น ๆ ให้ต่ำลง หรือลดจำนวนหุ้นให้น้อยลงก็ได้ 3. ทุนของบริษัทจะลดลงให้ต่ำกว่าหนึ่งในสี่ของทุนเดิมไม่ได้ 4. ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้านการลดทุน บริษัทจะต้องใช้หนี้หรือให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้นก่อน จึงจะ ลดทุนได้
  14. หลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมชื่อของบริษัท
    1. การแก้ไขเพิ่มเติมชื่อของบริษัท ต้องได้รับมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นให้แก้ไขชื่อได้ 2. หากบริษัทได้จดทะเบียนดวงตราไว้และตรานั้นมีชื่อบริษัทอยู่ ต้องจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม ตราของบริษัทด้วย
  15. วัตถุที่ประสงค์จะพิมพ์ขึ้นมาเอง โดยไม่ใช้วัตถุที่ประสงค์สำเร็จรูปของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้หรือไม่
    “ได้” โดยให้พิมพ์ลงในแบบ ว. (สีขาว) ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ที่นายทะเบียนจัดพิมพ์ขึ้น
  16. ใครจะเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมบริษัท
    คำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมบริษัททุกประเภท ต้องลงชื่อโดยกรรมการตามอำนาจที่ได้จดทะเบียนไว้เดิม
  17. กรรมการลาออกและจะแต่งตั้งกรรมการใหม่แทน จะต้องประชุมกรรมการหรือผู้ถือหุ้น
    1. ถ้ากรรมการลาออกก่อนครบกำหนดวาระการเป็นกรรมการและบริษัทต้องการจะแต่งตั้งกรรมการ ใหม่แทน จะประชุมกรรมการหรือผู้ถือหุ้นก็ได้ 2. ถ้ากรรมการลาออกเมื่อครบกำหนดวาระการเป็นกรรมการและบริษัทต้องการแต่งตั้งกรรมการ ใหม่แทน ต้องประชุมผู้ถือหุ้น
  18. กรรมการตายต้องทำอย่างไร
    ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนกรรมการออกจากตำแหน่ง หากกรรมการที่ตายเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ให้จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจกรรมการด้วย
  19. กรรมการบริษัทจะต้องมีกี่คน
    1. กรณีที่บริษัทได้กำหนดจำนวนของกรรมการไว้ในข้อบังคับของบริษัท การแต่งตั้งกรรมการก็ต้อง เป็นไปตามจำนวนตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ 2. กรณีที่บริษัทไม่ได้กำหนดจำนวนกรรมการไว้ในข้อบังคับของบริษัท การแต่งตั้งกรรมการเป็นไปตามมติ ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ที่จะกำหนดว่ากรรมการของบริษัทจะมีกี่คน
  20. การเปลี่ยนอำนาจกรรมการจะต้องประชุมผู้ถือหุ้นหรือกรรมการ
    การเปลี่ยนอำนาจกรรมการจะต้องประชุมผู้ถือหุ้น เว้นแต่ข้อบังคับของบริษัท จะกำหนดให้คณะกรรมการ เป็นผู้กำหนด อำนาจกรรมการได้
  21. ทางราชการมีการแก้ไขเลขที่ ถนน แขวง เขตของสำนักงาน จะต้องทำอย่างไร
    1. ให้กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำหนังสือถึงนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ขอแก้ไขเลขที่ ถนน แขวง เขตให้ถูกต้อง 2. แนบหลักฐานที่ราชการแก้ไขประกอบหนังสือด้วย
  22. บริษัทจำเป็นต้องจดทะเบียนตราของบริษัทด้วยหรือไม่
    บริษัทขอจดทะเบียนตราของบริษัทหรือไม่ก็ได้ เว้นแต่อำนาจกรรมการ ระบุว่าต้องประทับตราสำคัญบริษัท ต้องขอจดทะเบียนดวงตราสำคัญด้วย
  23. คำแสดงนิติฐานะของบริษัทในดวงตรา จะใช้คำย่อได้หรือไม่
    ไม่ได้ การใช้ชื่อและบริษัทจำกัดเป็นตราหรือส่วนหนึ่งของตรา จะต้องระบุคำแสดงนิติฐานะ โดยใช้ “บริษัท” ไว้หน้าชื่อ และ “จำกัด” ไว้ท้ายชื่อ (ยกเว้นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “บริษัท” ไว้หน้าชื่อ
  24. หลักเกณฑ์การจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมตราของบริษัท
    การแก้ไขเพิ่มเติมตราของบริษัท จะต้องได้รับมติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น หรือที่ประชุมคณะกรรมการ
  25. เหตุที่จะเลิกบริษัท
    1.เลิกตามที่ข้อบังคับกำหนดกรณีที่จะเลิกไว้ 2.เลิกตามกำหนดเวลาที่จดทะเบียนไว้ 3.ถ้าบริษัทตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งแต่อย่างเดียว บริษัทย่อมเลิกกันเมื่อเสร็จการนั้น 4.เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก 5.เมื่อบริษัทล้มละลาย 6.เมื่อศาลสั่งให้เลิก
  26. การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
    การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนผู้ขอจดทะเบียนต้องลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน พร้อมแสดงบัตรประจำตัว ในกรณีที่ไม่อาจลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนได้ไม่ว่าด้วยระการใดๆ ให้ถือว่าลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนเป็นที่ถูกต้อง เมื่อผู้ขอจดทะเบียนลงลายมือชื่อด้วยตนเองต่อหน้าบุคคลดังต่อไปนี้ 1. กรณีลงลายมือชื่อในราชอาณาจักร ก. พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งประจำอยู่ในท้องที่ที่ผู้ขอจดทะเบียนมีภูมิลำเนาอยู่ ข. สามัญสมาชิกหรือสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา หรือ ค. บุคคลอื่นตามที่นายทะเบียนกลางประกาศกำหนด 2. กรณีลงลายมือชื่อในต่างประเทศ ก. เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยหรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงาน ณ ประเทศนั้น หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนบุคคลดังกล่าว ข.บุคคลซึ่งสามารถให้การรับรองที่สมบูรณ์ตามแบบของกฎหมายแห่งประเทศนั้น หรือ ค.บุคคลที่ควรเชื่อถือได้สองคนมาลงลายมือชื่อรับรองต่อหน้านายทะเบียนว่าเป็นลายมือชื่อผู้นั้นจริง

ที่มา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dbd.go.th/

"คณะบุคคล" กับการประกอบธุรกิจ

บุคคลธรรมดาหากมีเงินได้พึงประเมินจะต้องนำเงินได้ตลอดทั้งปีไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากบุคคลธรรมดามีเงินได้พึงประเมินจะต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 10 - 37% ตามอัตราก้าวหน้า (Progressive Rate)

สุดาเป็นพนักงานกินเงินเดือนประจำมีรายได้ปี 400,000 บาท และยังเปิดร้านขายสินค้าสะดวกซื้อที่บ้านมีรายได้อีกปีละ 1,000,000 บาท สุดาต้องนำรายได้เงินเดือนและร้านขายสินค้าสะดวกซื้อมารวมกันทำให้เงินได้ของสุดาเป็นเงิน 1,400,000 บาท สุดาจะต้องเสียภาษีเงินได้สูงขึ้น (ตามภาษีอัตราก้าวหน้า)
แต่หากสุดาเลือกองค์กรที่ใช้ประกอบธุรกิจในรูปของ "คณะบุคคล" จะช่วยแก้ไขปัญหาในการเสียภาษีเงินได้
"คณะบุคคล" หมายถึง ธุรกิจที่ดำเนินงานด้วยบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยได้ตกลงทำกิจกรรมร่วมกันมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไรตามอัตราส่วนที่ตกลงกันหรือแต่ละคนที่ได้ลงทุนในกิจการ คณะบุคคลจึงมีลักษณะเหมือนกับห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในหนี้สินทั้งหมดของกิจการโดยไม่จำกัดจำนวนหนี้สินนั้น การเสียภาษีเงินได้ของคณะบุคคลจะเสียภาษีเงินได้เหมือนกับบุคคลธรรมดาที่แยกออกจากตัวบุคคล โดยถือเป็นบุคคลอีกคนหนึ่ง
ทั้งนี้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีอีก แต่ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นมีภาษีค้างชำระให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลทุกคนร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย"
นอกจาก "คณะบุคคล" จะมีหน้าที่เสียภาษีเสมือนหนึ่งเป็นบุคคลที่แยกออกจากบุคคลธรรมดาทั่วไปแล้ว เมื่อประกอบธุรกิจมีผลกำไรในแต่ละปี แล้วนำกำไรของคณะบุคคลมาแบ่งให้กับผู้ร่วมลงทุน ส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวก็ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (14) เงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ คือ "(14) เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม"
ในการคำนวณเงินได้พึงประเมินของคณะบุคคลไม่ได้แตกต่างจากบุคคลธรรมดาซึ่งก็คือ นำเงินได้ทั้งปีตั้งหักด้วยค่าใช้จ่ายเหมา และหักด้วยค่าลดหย่อน กรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หักลดหย่อนได้ตามสำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยแต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท ดังนั้นหากสุดาวางแผนภาษี สุดาอาจจะเลือกกินเงินเดือนในนามบุคคล และเป็นร้านขายของสะดวกซื้อในนามคณะบุคคล เมื่อถึงกำหนดยื่นเสียภาษีก็จะแยกเสียภาษีออกจากกันถือเป็นคนละหน่วยภาษี
* * * * บทความโดย สมเดช โรจน์คุรีเสถียร * *
โดย ผู้จัดการออนไลน์
19 กรกฎาคม 2548 16:48 น.

ทุนจดทะเบียนที่ดีต้องมีการวางแผน

โดยปกติกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจและต้องการจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดนั้น ย่อมต้องกำหนดทุนของบริษัทขึ้นมาตั้งแต่ตอนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ หากแต่ท่านทราบหรือเข้าใจคำว่า “ทุนจดทะเบียน” และ “ทุนเรียกชำระ” หรือไม่ว่ามีความแตกต่างกันเพียงใด และจะมีผลกระทบกับบริษัทของท่านอย่างไรหากขาดการวางแผนที่ดี
คำว่า ทุนจดทะเบียนนั้นคือ ทุนของบริษัทตามที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือบริคณฑ์สนธิ โดยจะแบ่งเป็นจำนวนหุ้น และราคาต่อหุ้น หรือ ที่เรียกว่าราคาพาร์ ส่วนคำว่า “ทุนเรียกชำระ” คือ เงินที่ได้เรียกชำระจากผู้ถือหุ้นแล้ว ซึ่งอาจจะน้อยกว่าหรือเท่ากับ จำนวนทุนจดทะเบียนก็ได้ โดยตามกฎหมายได้กำหนดว่าจะต้องเรียกชำระค่าหุ้นไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน เช่น บริษัท ทุนเหลือเฟือ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นจำนวน 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ผู้ถือหุ้นทั้งหมดต้องชำระค่าหุ้นขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 250,000 บาท หรือ ไม่น้อยกว่าหุ้นละ 25 บาทนั่นเอง จำนวนหุ้นและเงินที่ชำระแล้วต่อหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคนนั้น เราสามารถดูได้จากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ แบบ บอจ.5 ที่นำส่งไว้กับกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ตอนจดทะเบียนบริษัท
แต่ปัญหาก็คือ บางบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่อาจไม่ทราบข้อกำหนดดังกล่าว จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามแต่ ท่านอาจลงรายการในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามทุนจดทะเบียน ซึ่งเสมือนหนึ่งว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า ปัญหาที่ตามมาประการแรกก็คือ เป็นการให้ข้อมูลเท็จต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบันทึกบัญชีและการคำนวณภาษีเงินได้อีกทอดหนึ่ง มองภาพง่าย ๆ ก็คือ ถ้าบริษัท ทุนเหลือเฟือ จำกัด ลงรายการในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า มีเงินชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า 1 ล้านบาท แต่ความเป็นจริงได้มีการชำระค่าหุ้นเพียงแค่ 250,000 บาท เป็นต้น เท่ากับว่าเงินส่วนที่เหลืออีก 750,000 ได้หายออกไปจากบัญชี ในแง่ของการทำบัญชีอาจต้องปรับปรุงรายการ โดยการถือเสมือนว่าผู้ถือหุ้นได้กู้ยืมเงินไปจากบริษัท แต่ในแง่ของกรมสรรพากรจะไม่เพียงแค่เสมือนว่า มีการกู้ยืมเงินไปจากบริษัทเท่านั้น แต่ถือเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสินทรัพย์ที่ต้องคิดค่าตอบแทนหรือคำนวณดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมดังกล่าวด้วย ท่านเอสเอ็มอีคงเริ่มเห็นความยุ่งยากที่ตามมาเพราะการคำนวณดอกเบี้ยรับเข้าไปในงบการเงินย่อมหมายถึงการเพิ่มฐานกำไรสุทธิในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือถึงแม้ว่า เราจะไม่ปรับปรุงรายการเข้าไปในงบการเงินแต่ในการคำนวณภาษีก็ยังคงต้องปรับเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยรับเข้าไปอยู่ดี ดังนั้น ก่อนที่ท่านจะเริ่มจดทะเบียนบริษัท จึงควรวางแผนเกี่ยวกับทุนจดทะเบียนให้ดีเสียก่อนว่า ระดับทุนเท่าใดที่เพียงพอกับการประกอบธุรกิจและผู้ถือหุ้นมีความสามารถชำระค่าหุ้นได้ และ ควรแจ้งข้อมูลที่เป็นจริงแก่กระทรวงพาณิชย์ในการนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาทุนเกินเงิน ดังที่กล่าวมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ท่านเอสเอ็มอี ที่ได้ประสบปัญหาดังกล่าวอยู่ ก็ยังพอมีทางเลือกให้ปฏิบัติอยู่บ้าง ได้แก่ การลดทุนจดทะเบียนให้เท่ากับทุนที่มีอยู่จริง • เรียกชำระค่าหุ้นให้ครบจำนวนตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น • คำนวณดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืม โดยรวมคำนวณเป็นรายได้ดอกเบี้ยรับเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทางเลือกที่ 3 ออกจะเป็นทางเลือกที่ไม่น่าเลือกเท่าไรเพราะดูเหมือนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่บริษัทของเราเลย อีกทั้งยังต้องเสียภาษีโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ดังนั้น แนะนำว่าท่านเอสเอ็มอี ควรวางแผนให้ถูกต้องตั้งแต่แรกจะเป็นการดีที่สุด
* * * บทความโดย : ดุลวรรณ์ สกุลดี * * *โดย ผู้จัดการออนไลน์19 ธันวาคม 2548 16:26 น
ที่มา http://www.manager.co.th/SMEs/ViewNews.aspx?NewsID=9480000173684